การประเมินราคาของอัญมณีแต่ละเม็ดนั้น ขึ้นอยู่กับ
1. สี (Color)
2. ความสะอาด (Clarity)
3. การเจียระไน (Cutting)
4. น้ำหนัก (Carat weight)

ในเรื่องของสีนั้น มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น สีของตัวพลอย สีของแสงอาทิตย์ หรือสีของหลอดไฟต่างๆ
การดูพลอยให้สวยควรจะดูผ่านแสงธรรมชาติ

เรื่องของความสะอาด แบ่งเป็น 2 ชนิด
1. ตำหนิภายนอก
2. ตำหนิภายใน

ตำหนิภายนอกก็คือ มองเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า แต่ไม่ได้มีผลต่อความแข็งแรงของพลอย เพราะว่ามันสามารถถูกขัดออกไปได้
ส่วนตำหนิภายในนั้น มักเกิดจากการเจริญเติบโตของพลอย มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือผ่านกล้องขยาย

การวัดเกรดความสะอาดของพลอย
หลักๆจะแบ่งเป็น 3 ประเภท
1. เนื้อพลอยสะอาด ไม่มีตำหนิเลย
2. พลอยมีตำหนิที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องขยาย 10 เท่า
3. พลอยมีตำหนิที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

การให้เกรดไล่จากสะอาดมากจนมีรอยชัดมาก
C = Clean
LI1 – LI2 = Lightly Included
MI1 – MI2 = Moderately Included
VI1 – VI2 = Visibly Included
HI = Heavily Included

นอกจากความสะอาดและการชักเงาของพลอยแล้ว การเจียระไนก็มีส่วนสำคัญในการเล่นแสงของพลอยด้วย ยิ่งเจียรได้ถูกมุม ถูกองศา และได้สัดส่วน พลอยก็จะยิ่งมีความแวววาวมากขึ้น

รูปแบบการเจียรของพลอย

หน่วยของพลอยคิดเป็นกะรัต Carat (ct.)  โดย 1 กะรัต เท่ากับ 0.2 กรัม

ชนิดของพลอย

พลอยชนิดหลักๆเลยคือพลอยตระกูลคอรันดัม (Corundum)
ประกอบไปด้วย พลอยประเภท แซฟไฟร์ Sapphire มีหลากสีมากค่ะ ทั้งขาว น้ำเงิน เหลือง แดง เขียว ชมพู ม่วง ส้ม และอื่นๆสีขาวนั้น เราเรียนกันว่า White Sapphire  เป็นคอรันดัมบริสุทธิ์ ไม่มีธาตุอื่นๆเจือปน
สีน้ำเงิน เรารู้จักกันในนาม ไพลิน หรือ นิลกาฬค่ะ (Blue Sapphire)
สีแดง เรารู้จักกันในนาม ทับทิม (Ruby)
สีเหลือง เราเรียกกันว่า บุษราคัม (Yellow Sapphire)
สีเขียว เรียกว่า เขียวส่อง (Green Sapphire)
และยังมีปรากฎการณ์อีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Star Sapphire หรือมีรูปดาวปรากฎอยู่บนพลอย พลอยตระกูลนี้มีความแข็งอยู่ที่ระดับ 9 ซึ่งน้อยกว่าเพชรเพียง 1 ระดับ

ทับทิมเป็นพลอยประจำเดือนเกิด กรกฎาคม
ทับทิมในภาษาสันสกฤตโบราณ หมายถึง เจ้าแห่งอัญมณีทั้งปวง และยังถูกขนานนามให้เป็นอัญมณีแห่งราชาอีกด้วย
โดยทับทิมสีแดงสดเข้ม จะมีราคาสูงสุด
ทับทิมที่หายากที่สุดคือ สีแดงเลือดนกพิราบ (Pigeon’s blood)
ทับทิมคุณภาดี สีจะไม่มืดคล้ำ ไม่ควรติดสีส้มหรือม่วงมากเกินไป ควรเลือกที่มีสีเต็มเม็ด และมีประกายไฟดี
ในเรื่องของความสะอาดนั้น ทับทิมที่ไม่มีตำหนิเลย ไม่ปรากฎอยู่ในตลาด
ส่วนใหญ่เนื้อจะขุ่นและมีตำหนิมาก

ไพลินเป็นพลอยประจำเดือนเกิดกันยายน
บางประเทศนิยมใช้ไพลินเป็นแหวนหมั้น เพราะเป็นสัญลักษณ์ของรักที่ มั่นคง นิรันดร์
แหล่งไพลินคุณภาพดีได้แก่ ไทย กัมพูชา ซีลอน ออสเตรเลีย แคชเมียร์ มาดากัสการ์
ควรเลือกไพลินที่มีสีเข้มจัดสดใส ไม่คล้ำจนมืด หรือติดสีเทาหรือสีเขียว
ไพลินที่มีราคาสูงคือสีน้ำเงินสด ถึง อมม่วง
โดยทั่วไปไพลินจะสะอาดกว่าทับทิม
ตำหนิที่พบในไพลินได้แก่ ตำหนิเส้นเข็ม ตำหนิเส้นไหม ผลึก ตำหนิลายนิ้วมือ แถบสี และ หย่อมสี

การปรับปรุงคุณภาพของอัญมณีนั้นมีหลายแบบ ตั้งแต่การเผา การซ่านสี การอุดแก้ว
การตรวจหาร่องรอยของการเผานั้น ดูได้ด้วยกล้อง เราจะสามารถมองเห็นการหลอมละลายของตำหนิได้

การซ่านสีคือการใส่สีลงไปในขณะที่เผา แต่จะทำให้สีติดเฉพาะส่วนตื้นๆของพลอย

การปรับปรุงคุณภาพขั้นสูงด้วยความร้อน จะทำให้พลอยมีสีที่สว่างสดใสมากขึ้น แต่ผลลัพธ์อาจจะไม่ถาวร

ธาตุที่ใช้ในการปรับปรุงพลอยหลักๆคือ เบริลเลี่ยม และ Chrysoberyl ซึ่งได้มาจากการบดอัญมีชนิดนั้น

การอุดทับทิมด้วยแก้วตะกั่ว จะทำให้ความสะอาดของทับทิมดีขึ้น แต่จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างเช่น ฟองอากาศ เส้นใยสีน้ำเงินหรือสีส้ม
แต่หากนำไปจุ่มในโซดาไฟ จะทำให้ทับทิมกลับคืนสู่สภาพเดิม

โคลัมเบียจัดเป็นแหล่งผลิตคุณภาพมรกตที่ดีที่สุดในโลก โดยสีจะเข้ม สด สวยและสะอาด มรกตคุณภาพดีที่น้ำหนักมากกว่า 2 กะรัต จะมีราคาสูงถึง 30,000 เหรียญต่อกะรัต ประเทศอื่นๆที่เป็นแหล่งมรกตคือ แซมเบีย บราซิล และ ซิมบับเว

สีที่นิยมที่สุดคือสีเขียวน้ำเงิน และ เขียวสด ตามทฤษฎี มรกตโคลัมเบียจะมีสีเขียวเข้มและบริสุทธิ์ ในขณะที่มรกตแซมเบียจะออกโทนเขียวน้ำเงิน โดยทั่วไปแล้ว มรกตจะมีตำหนิที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งเป็นที่ยอมรับในตลาดพลอย แต่ไม่ควรชัดเจนจนบดบังความโปร่งใส มรกตนั้นมีความบอบบางเนื่องจะมีรอยแตกค่อนข้างเยอะ การเจียรไนจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษรวมถึงการใช้งานด้วย รูปแบบการเจียรไนมักจะมีการตัดมุมเพื่อป้องกันการเสียหายเมื่อเข้าตัวเรือน การชุบมรกตลงในน้ำมันนั้นเป็นเรื่องที่ทำกันโดยทั่วไป เพื่อป้องกันความเสียหายในการขนส่งมรกต โดยน้ำมันจะระเหยไปเองหลังจากชุบประมาณ 6 เดือน

การปรับปรุงคุณภาพของพลอยนั้นเป็นที่ยอมรับกันในหลายประเทศ โดยประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่โด่งดังในเรื่องการเผาพลอย จนทำให้กลายเป็นหนึ่งในแหล่งส่งออกพลอยที่สำคัญที่สุดของโลก

แต่การปรับปรุงพลอยด้วยธาตุชนิดต่างๆนั้น ยังมีความขัดแย้งกันอยู่บ้างในบางประเทศ ดังนั้น ก่อนซื้อหรือขายควรเช็คให้ดีเพื่อป้องกันการเกิดปัญหา

การดูพลอยปลอมแบบเบสิคคือ ให้ดูที่สีะ ถ้าเม็ดไหนส่องแล้วเห็นสีเข้มชัดเจนตรงขอบพลอย เหมือนเวลาเราตัดเส้นขอบตอนวาดรูป ให้เดาว่าเป็นของปลอม

ราคาของพลอยนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หลักๆก็ ขนาด ยิ่งเม็ดใหญ่ยิ่งหายาก

สี จริงๆขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่แล้วพลอยสีเข้มจะมีราคาสูงกว่า

การเจียร ช่างเจียรส่วนใหญ่จะพยายามเจียรให้เก็บน้ำหนักพลอยให้ได้มากที่สุด ดังนั้นบางทีพลอยอาจจะเบี้ยวหรือไม่เป็นทรงสวย แต่ก็มีร้านค้าอีกหลายร้านที่ยอมเสียน้ำหนักเพื่อให้ได้พลอยที่มีคุณภาพ เล่นไฟ และทรงสวย โดยที่พลอยเหล่านั้นอาจจะมีราคาสูงกว่าพลอยเม็ดใหญ่ทั่วๆไป

การปรับปรุงคุณภาพ พลอยสวยๆที่ไม่ได้ผ่านการเผานั้น ราคาจะสูงมากๆๆ เพราะเป็นของหายาก ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ เหมือนผู้หญิงที่สวยแบบธรรมชาติโดยไม่ผ่านการศัลยกรรม ต่างจากพลอยที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ จะมีราคาที่ถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัด

แหล่งที่มา บางทีพลอยชนิดเดียวกัน แต่มาจากคนละประเทศ ราคาก็ต่างกัน

พลอยเนื้อแข็งมีตั้งแต่กะรัตละหลักร้อยถึงหลักล้าน ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่กล่าวมา ใครสนใจควรจะหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ

การดูพลอยแท้พลอยปลอม ต้องอาศัยความชำนาญ แต่ปัจจุบันมีแลปที่ทุกคนสามารถนำพลอยไปเช็คได้ ดังนั้น ขอแนะนำว่าถ้าต้องการจะซื้อพลอยที่มีราคาสูง ควรมีใบเซอร์จากห้องแลปที่ได้มาตราฐาน